วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559
องค์ประกอบ 6 อย่างของบทละคร
องค์ประกอบ 6 อย่างของบทละคร
ในการเรียนวิเคราะห์บทละครนั้น สิ่งที่ผู้เรียนทฤษฏีละครมักจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือ 6 Elements of a Play ซึ่งเป็นทฤษฏีที่คิดขึ้นด้วยอริสโตเติล โดยมีส่วนประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. Plot (โครงเรื่อง)
หมายถึงเรื่องที่มีการเกิดความขัดแย้ง (Conflict) ตั้งแต่ตัวละคร 2 ตัวขึ้นไป หรือไม่ก็เกิดขึ้นกับตัวละครตัวเดียวแต่เป็นการขัดแย้งภายในตัวเอง ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวนั้นจะทำให้เกิดเป็นการกระทำ (Action) และการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการทำอื่นๆ ตามมาสืบเนื่องอย่ามีเหตุมีผล ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ และถูกวางไปทางหนึ่งทางใดอย่างมีระเบียบ
ลักษณะโครงเรื่องที่ถูกวิจารณ์ไม่ดีนั้นคือลักษณะโครงเรื่องที่ผู้เขียนอยากให้เป็นอย่างไรก็บังคับเป็นอย่างนั้นโดยไม่สมเหตุสมผลตามความคิดของตัวละคร
โครงเรื่องที่ดีต้องมีความยาวพอเหมาะ ประกอบไปด้วย ต้น (เกริ่น) กลาง (พัฒนา) จบ และสัมพันธ์กันตามเหตุผลและกฏแห่งกรรม (ที่กล่าวเช่นนี้เพราะผู้ชมควรได้ข้อคิดต่อชีวิตที่ถูกต้อง)
2. Character & Characterization (ตัวละครและการออกแบบตัวละคร)
ตัวละครคือผู้กระทำและผู้ได้รับผลของการกระทำนั้นๆ ในเรื่อง โดยการวางลักษณะนิสัยของตัวละคร (Characterization) นั้นควรเปลี่ยนแปลงจากนิสัยเดิมที่ตัวละครเป็น พัฒนาไปตามเหตุการณ์ที่มากระทบกับชีวิตของตัวละครนั้นๆ
ลักษณะของตัวละครที่หลายคนมักคุ้นเคยคือ
- Typed Character คือตัวละครที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เรียนรู้ ไม่มีการพัฒนา ตัวละครประเภทนี้จะเป็นภาพจำประมาณว่าดีก็ดีเลย เลวก็เลยไปเลย ตัวละครลักษณะ Typed Character นั้นจะเหมาะกับบละครเด็กๆ หรือในกรณีของเรื่องสอบสวน
- Well-Rounded Character คือตัวละครที่มีทั้งส่วนที่ดีและข้อบกพร่องในตัวเอง มีความคล้ายและใกล้เคียงกับมนุษย์จริงๆ ผู้เขียนมักจะไม่ตัดสินว่าใครเป็นคนดีหรือคนเลว การออกแบบตัวละครประเภทนี้เป็นที่นิยมในการเขียนบทละคร
3. Thought (ความคิด)
คือแก่นของเรื่อง (Theme) จุดมุ่งหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อกับผู้ชม จนอาจจะกล่าวได้ว่าถ้าผู้ชมรับรู้เรื่องราว (Story) ของละครแต่ไม่สามารถรับรู้ความคิดที่ผู้เขียนต้องการสื่อแล้วก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวของละคร
4. Diction (ภาษา)
คือสื่อที่ถ่ายทอดเรื่อง ตัวละคร และความคิด Diction สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นร้อยกรองหรือร้อยแก้วก็ได้
เนื่องจากความจำกัดในการนำเสนอ การใช้ภาษาจะต้องสื่อความหมายให้คนดูเข้าใจชัดเจนได้ บทละครจะต้องคัดสรรคำพูดที่ใช้ในบทสนทนาอย่างดี ตั้งแต่การเลือกคำ รูปประโยค หรือเทคนิคทางภาษาเพื่อทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงละครได้อย่างลึกซึ้ง
5. Song (เสียง)
ในกรณีนี้ Song ไม่ได้หมายความถึงบทเพลงเพียงอย่างเดียว แต่คือเสียงที่เกิดขึ้นในละครและบทเวที ซึ่งมีความหมายรวมตั้งแต่การใช้เสียงสูงต่ำของนักแสดง สำเนียงภาษา ความเงียบ จนไปถึงดนตรีประกอบ เสียง Effect ฯลฯ อีกด้วย
6. Spectacle (ภาพ)
ภาพในละครคือสิ่งที่คนดู “เห็น” ได้บนเวทีระหว่างการชมละคร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ ฉาก แสง เครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า เครื่องประกอบฉาก ฯลฯ รวมไปถึงท่าทางและสิ่งที่นักแสดงทำบนเวที โดยทั่วไปแล้วภาพจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ในบทละครแต่เกิดจากการวิเคราะห์และกำกับของศิลปิน อย่างไรก็ตามในบทละครสมัยใหม่บางเรื่องก็มีการระบุภาพไว้อย่างละเอียดเช่นเดียวกัน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)